การดูแลช่องปากในระหว่างรับรังสีรักษา

การดูแลช่องปากในระหว่างรับรังสีรักษา สำหรับมะเร็งบริเวณศีรษะและคอ (2559)

บทความนี้เรียบเรียงจากประสบการณ์จริงของคนที่ดูแลช่องปากอย่างดี มีฟันครบทุกซี่ และ ไม่เคยคิดว่าจะต้องมาสูญเสียส่วนหนึ่งของช่องปากจากการเป็นมะเร็งที่เพดานปาก

สำหรับคนวัย 56 ปี ที่ชีวิตไม่ได้สัมผัสกับปัจจัยเสี่ยงใดๆ ตามที่เค้าว่ากันว่าเป็นสาเหตุที่นำมาสู่การเป็นมะเร็ง การที่ต้องสูญเสียส่วนหนึ่งของเพดานปากซึ่งพาเอาฟันสวยๆ อีก 2 ซี่ ไปด้วย ยังไม่เท่ากับความรู้สึกที่ว่าถ้าเอาเพดานปากออกไปแล้วชีวิตจะเป็นยังไงกับสภาพช่องปากกับช่องจมูกเชื่อมต่อถึงกัน และคุณหมอก็ช่วยโดยการโยกเนื้อแถวๆ นั้นมาปิดให้ แต่แล้วก็ต้องประสบกับความผิดหวังเพราะเนื้อเยื่อที่เอามาปิดนั้นไม่ติด ทำให้ต้องเข้ารับการผ่าตัดอีกรอบเพื่อซ่อมแซม ก็ดีขึ้นนะ แต่ก็ยังคงเหลือรูเล็กๆ ที่ด้านท้าย ก็เล็กจริงๆ แหละ แต่ก็สร้างความลำบากในการดื่มกินอย่างมาก เพราะกินอะไรมันก็ไหลขึ้นจมูก แถมด้วยพูดไม่ชัด ในช่วงแรกคุณหมอใส่สายให้อาหารผ่านทางจมูก ก็ยังคิดว่าคงต้องใช้ชีวิตแบบมีสายไปอีกยาวเพราะต้องไปฉายแสงอีก 33 ครั้ง จากนั้นค่อยมาทำเพดานเทียม (คุณหมอผ่าตัดบอก)

ถือว่าเป็นโชคดี ที่คุณหมอฟันที่ดูแลเรื่องเพดานเทียมบอกว่าทำใส่ก่อนสบายกว่า จะได้ไม่ต้องใช้สายให้อาหาร ลำบาก ตอนแรก ก็งงๆ ถามอะไรเยอะแยะไปหมดที่กลัวที่สุด คือ ใส่แล้วจะมีผลต่อแผลผ่าตัดมั้ย ด้วยความกลัวว่าจะทำให้แผลแยก ในที่สุดก็ตัดสินใจทำ คุณหมอก็เริ่มจากการพิมพ์ปาก และ นัดครั้งต่อไปเพื่อใส่เพดานเทียม แล้วก็มีนัดปรับเป็นระยะๆ คุณหมอว่าเป็นเรื่องปกติของช่องโหว่ที่จะมีการเปลี่ยนเปลงตามการหายของแผล ซึ่งก็จริง ทุกครั้งที่มาปรับ ช่องโหว่มีขนาดเล็กลงโดยตลอด จากรู้สึกไม่สบายพอปรับแล้วก็ดีขึ้นใส่สบาย เป็นวงจรอย่างนี้ตั้งแต่หลังผ่าตัดจนกระทั่งฉายแสงครบ 33 แสง

ชีวิตหลังจากได้เพดานเทียม ถือว่าเป็นชีวิตที่ดี ตั้งแต่ ไม่ต้องมีสายติดอยู่ที่หน้า มันก็ดูแปลกๆ นะคะ แถมยังเกะกะอีก เสียงใสขึ้นพูดชัดขึ้น กินน้ำไม่ต้องกลัวไหลเข้าจมูก และแน่นอนว่าน่าจะรับประทานอาหารได้ปกติ นี่ก็ต้องไปลองเองที่บ้าน และแล้วก็ถึงวันที่คุณหมอบอกว่าสาหัสก่ว่าการผ่าตัด คือ การฉายแสง คำว่าสาหัสจากที่ได้ยินคุณหมอเล่าให้ฟัง กับสาหัสแบบประสบการณ์จริงเป็นยังไง ขอไล่เรียงไปทีละสัปดาห์ นะคะ

o สัปดาห์ที่ 1-2 ฉายแสงไป 8 ครั้ง ยังไม่รู้สึกอะไร

o สัปดาห์ที่ 3 ฉายแสงไปได้ประมาณ 10 กว่าครั้ง เริ่มรู้สึกเจ็บปาก จึงขอยามาเผื่อไว้ก่อน ตอนแรกได้ยาชาแบบกลั้วแล้วกลืน (ใช้ไม่ได้เพราะใช้แล้วรู้สึกอยากอ๊วก) คุณหมอจึงสั่ง Difflam สเปรย์ให้ และด้วยความเป็นคนกลัวเจ็บก็เลยได้ Caphosol มากลั้วปากเพื่อลดการเกิดแผลในปาก

- Difflam ใช้สำหรับพ่นลงตรงที่แผล ตอนสเปรย์โดยแผลจะแสบมากๆๆ ชั่วเวลาหนึ่ง ให้รีบอมน้ำอุ่นๆ อมแล้วบ้วนทิ้งเรื่อยๆ ซักครึ่งชั่วโมง แล้วจึงค่อยกลั้วปากด้วย Caphosol

- Caphosol บอกไม่ถูกเหมือนกันว่ารสชาดเหมือนอะไร รู้แต่ว่าเมื่อใช้ครั้งแรกอมได้ไม่ถึง 1 นาที ก็บ้วนทิ้ง เพราะรสแปลกมาก แต่ใช้ไประยะหนึ่งก็ชินไปเอง วิธีการใช้ยาตัวนี้ คือ อมไว้ในปาก 3-4 นาที แล้วบ้วนทิ้ง (ทำ 2 ครั้ง) ความรู้สึกแรกคือ ปากแห้งและน้ำลายเหนียว ซึ่งหลังกลั้วปากห้ามดื่มน้ำ 30 นาที ในกรณีที่กลั้วคอด้วย Caphosol แล้วนอนทันที เนื่องจากตลอดทั้งคืนปากไม่ขยับ พอตื่นขึ้นมาจะลำบากมาก อ้าปากไม่ได้ น้ำลายเหนียวข้นเป็นสีเหลือง ต้องเอามือ ค่อยๆ ดึงริมฝีปากซ้าย/ขวา/บน/ล่าง ให้ขยับไปมา เกือบ 20 นาที จากนั้นให้รีบทำความสะอาดช่องปาก ทั้งหมดใช้เวลาเกือบ 1 ชั่วโมง จึงจะเรียบร้อย

o สัปดาห์ที่ 4 รู้สึกเจ็บปากแบบพอทนได้ การจิบน้ำบ่อยๆ ช่วยได้มาก

o สัปดาห์ที่ 5 หน้าและคอเริ่มดำ คุณหมอให้ใช้ครีม Sebamed มาทาเพื่อดการอักเสบเป็นขุยที่หน้า

- Sebamed body-milk ใช้ดีมาก ผิวหน้าที่ดำเป็นขุยและคอที่ตกสะเก็ดหายไป หน้าตาชุ่มชื่นขึ้นและไม่ค่อยมีรอยไหม้เพิ่มขึ้น

o สัปดาห์ที่ 6 ช่วงนี้เจ็บแผลในปาก แผลส่วนใหญ่จะอยู่ที่ลิ้น ส่วนอื่นๆ ไม่ค่อยมี เวลากินอาหารลำบากมากเพราะลิ้นจะสัมผัสตลอด

- ต้องกินอาหารเหลว เช่น โจ๊กใส่ไข่ เอ็นชัวร์ นูทรีไลท์ ไข่ตุ๋น ข้าวต้มใส่ไข่ เท่านั้น

- น้ำที่ดื่มก็จะเป็นน้ำอุ่น ซึ่งเวลาจิบแล้วจะรสนุ่ม จิบได้มาก ส่วนน้ำเย็น / น้ำผลไม้ที่มีรสหวาน (น้ำมะพร้าว) / น้ำส้ม ทั้งหมดนี้ถ้าดื่มเข้าไปจะแสบปากมาก ต้องรีบล้างปากด้วยน้ำและจิบน้ำอุ่นให้เร็วที่สุด จะได้หายแสบ

- อุปสรรคอีกอย่าง คือ ไอ เวลากลั้วปากด้วย caphosol แล้วซักพัก คอจะเริ่มแห้งและไออย่างมาก โอโหเจ็บสุดๆ เวลาไอแล้วบางครั้งจะไอมากต้องรีบวิ่งเข้าห้องน้ำ น้ำหูน้ำตาไหลเยอะแยะ ต้องล้างปากให้สะอาดให้ปากชุ่มชื่นและรีบจิบน้ำอุ่นๆ เพื่อให้ชุ่มคอ วันๆ หนึ่งจะไอ ประมาณ 2-3 ครั้ง

- การทำตัวให้อบอุ่นก็สามารถช่วยได้เรื่องการไอ คือ ต้องรีบทานข้าว อาบน้ำ ใส่เสื้อผ้าให้อบอุ่น ใส่ถุงเท้า จะช่วยได้ ส่วนตัวจะใส่หมวกได้วย เพราะคิดว่าหัวอุ่น เท้าอุ่น จะช่วยเรื่องไอได้เยอะ

- การดื่มน้ำให้เยอะๆ แนะนำให้จิบน้ำตลอดเวลาทั้งวันดีที่สุด คือ เราต้องมีขวดน้ำติดตัวตลอดเวลารู้สึกตัวยกน้ำขึ้นจิบทันที แต่ต้องเป็นน้ำอุ่นๆ จะดีที่สุด

o สัปดาห์ที่ 7-8 เป็นโค้งสุดท้ายของการฉายแสง ซึ่งประโยคแรกที่คุณหมอพูดคือ “ช่วงนี้เป็นช่วงวิกฤต ขอให้อดทนนะพี่” ก็มาคิดดู ว่านี่ก็เจ็บแล้วยังมีแบบเจ็บสุดๆ อีกเหรอ

- ต้นสัปดาห์ก็ยังเจ็บปกติ พอปลายสัปดาห์มีความรู้สึกว่า ทำไมมันเจ็บมากขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะลิ้น ทำความสะอาดปากหลังกินข้าวยากมากๆ เจ็บจริงๆ จนสัปดาห์นี้ยอมที่จะทานให้น้อยลงเพื่อที่จะได้ไม่ไปยุ่งกับช่องปาก ผลก็คือ น้ำหนักลงไป 1-2 กิโล เจ็บขนาด Difflam ยังเอาไม่อยู่ ก็ได้แค่ปลอบใบว่า เอาหน่า สัปดาห์หน้าก็ไม่ได้เจาะเลือด/ฉายแสง แล้ว กินน้อยไปหน่อยคงไม่เป็นไร เพราะวันที่ 21 ต้องเจอคุณหมอฟันเพื่อปรับเพดาน ก็ต้องรักษาช่องปากไว้ก่อน วันที่ 20 บ่ายๆ ก็ต้องมานั่งบริหารช่องปาก ดึงปาก บน/ล่าง/ซ้าย/ขวา และฝึกอ้าปากให้กว้างๆ จะได้สะดวกเวลามาปรับเพดานอีกครั้ง สุดท้ายก็ครบคอร์สฉายแสงเสียที 33 ครั้ง

จากประสบการณ์ที่ผ่านมา โรคนี้ขั้นตอนการรักษาโหดสุดๆ ในช่วงของการรักษาให้ทำดังต่อไปนี้

1. หมั่นสังเกตตัวเองว่าถ้าเจ็บ เราจะทำอย่างไรให้ตัวเองเจ็บน้อยที่สุด อยู่ที่ตัวเองเป็นคนกำหนดเพราะแต่ละคนไม่เหมือนกัน

2. รู้ลักพักจำ คือ ช่วงนั่งรอคิวฉายแสงจะมีคนไข้เค้าคุยกัน อะไรที่เราอยากรู้หรือไม่รู้อะไร ก็สามารถถามคนไข้ด้วยกัน สามารถเอามาปรับใช้กับตัวเองได้เป็นอย่างดี

3. อยู่กับตัวเองให้มาก ให้เวลากับตัวเอง ดูแลตัวเองให้ดี อุปกรณ์ต่างๆ หามาให้ครบจะได้หยิบใช้สะดวก

4. รีบนอนแต่หัวค่ำเพราะจะได้หลับ จะได้ไม่เจ็บปาก จะได้หมดไปวันๆ

5. คาถาที่ต้องท่องให้ขึ้นใจ คือ อดทน อดทน และ อดทน ... สู้ สู้ และ สู้

6. เรื่องความสะอาดก็สำคัญ เพราะแผลในปากกระทบหลายอย่าง ถึงยอมไม่กินเพื่อรักษาช่องปากให้สะอาด

คำว่าไม่กิน คือ กินเป็นมื้อ และหลังจากทำความสะอาดช่องปากแล้วจะไม่กินอะไรเลยนอกจากน้ำเปล่าจนกว่าจะถึงมืออาหารต่อไป อาหารหลัก คือ

1. โจ๊ก(น้ำเยอะๆ) หรือ ข้าวต้มเหลวๆ ใส่ไข่

2. นิวทริไลท์ หรือ เอ็นชัวร์

3. น้ำผักผลไม้แยกกาก

การกินอาหารจะกินหนักแค่ 2 มื้อ เพราะ ฉายแสงช่วงเวลา 12-14 น. ช่วงนี้จะกินเบาๆ

1. มื้อเช้า และ มื่อเย็น กินอาหารให้ได้มากๆ ตามด้วย เอ็นชัวร์ หรือ นิวทริไลท์ 1 แก้ว

2. มื้อกลางวัน ส่วนมากจะเป็นน้ำข้าวกล้องผสมธัญพืชของดอยคำ 1 ขวด หรือ ชงเอ็นชัวร์ 1 ขวด (ระหว่างรอฉายแสง)

การทำความสะอาดช่องปากหลังรับประทานอาหาร

1. แปรงฟันให้ทั่วโดยไม่ใส่ยาสีฟัน (ใช้แปรงเด็กขนอ่อน)

2. ใช้ไหมขัดฟันขัดทุกซี่ (ที่ทำได้)

3. ใช้ผ้าก๊อซพันนิ้วมือทำความสะอาดลิ้น ใต้ลิ้น เพดานปาก และ กระพุ้งแก้ม

4. บ้วนน้ำเกลือ

5. กลั้วน้ำยา Caphosol

การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เวลาเจ็บแผลที่ปาก หลังการฉายแสง

1. ช่วงแรก จะอมน้ำและบ้วนปากบ่อยๆ จะทำให้ปากชุ่มชื้นตลอด แล้วก็ พูดมากๆ เพื่อปากจะได้ขยับ (ถ้าปากอยู่นิ่งๆ จะรู้สึกตึงและเจ็บลิ้น/เพดานปาก มากขึ้น)

2. จะพ่นยา Difflam ลงไปที่มีแผล ซึ่งจะแสบมากๆ ชั่วระยะเวลาหนึ่ง จากนั้นรีบอมน้ำอุ่นๆ คือ อมแล้วบ้นทิ้ง เรื่อยๆ ซักครึ่งชั่วโมง แล้วตามด้วยกลัวน้ำยา Caphosol

3. การอมน้ำเย็นจัดจะบาดแผลทำให้เจ็บ ขณะที่การอมน้ำอุ่นนิดๆ จะทำให้ปากนุ่มชุ่มชื่น กลืนลงคอง่าย

 

สร้างโดย keng เมื่อ Mar 12, 2020 ผู้เยี่ยมชม 158